จารยา บุญมาก
คุณแม่มือใหม่ที่เล่นกับลูกเต็มเวลา
ภาพจำที่มีมือเล็กๆ กำนิ้วเราแน่น
เป็นภาพที่เราเริ่มต้นนับความแข็งแรงกล้ามเนื้อของลูก
ช่วงที่ลูกชายอายุได้ 5 วัน เขาจับนิ้วเราแน่นมาก มือของเขาค่อนข้างมีความแข็งแรง
ความรักในพลังของทารกน้อยเริ่มขึ้นในตอนนั้น
ไม่นานเราก็กลายเป็นแม่ที่ให้ความสำคัญกับกล้ามเนื้อของลูกมาเป็นอันดับหนึ่ง
ด้วยการเล่นกับลูกให้มากที่สุด
การเป็นแม่เต็มเวลาดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายในการจัดการเวลาให้ลูก แต่จริงๆ แล้วพอลองทำดู ไม่มีอะไรง่าย เพราะแม่เป็นมนุษย์ธรรมดาที่เหนื่อยล้า อยากพัก หมดแรงในบางวัน ดังนั้นอุปสรรคในการวางแผนการเล่นกับลูกจึงค่อนข้างตะกุกตะกักใน 1 เดือนแรก แต่แล้วก็ลงตัวขึ้นในเดือนต่อๆ มา
การเล่นกับเด็กแรกเกิดอายุ 0-3 เดือนเป็นอะไรที่ท้าทายเพราะเขากินนมบ่อย หลับบ่อย ร่างกายแม่จะอ่อนเพลียเพราะให้นมแม่ 100 % เราจึงเลือกวิธีเล่นแบบขยับร่างกายเขาเบาๆ พานอนคว่ำดูภาพต่างๆ เปิดเพลงไปด้วย กิจกรรมหลักๆ คือ ช่วยให้เขาสามารถ ชันคอ หันหัว ตามวัตถุ ซึ่งลูกชายทำได้ดีมาก กิจกรรมรองลงมา คือ การพาไปเดินเล่นข้างนอก พานอนคว่ำดูพืชพรรณ ดอกไม้ แมลง เวลาเห็นดอกไม้โยกตามลม หรือดอกหญ้าปลิว เขาจะยิ้มตามแบบเพลินๆ เขากลายเป็นเด็กร่าเริง หัวเราะง่าย ป่วยก็ไม่ค่อยร้องงอแง หรืออาละวาดรุนแรง
แรกๆ ไม่คิดเช่นกันว่าการเล่นกับลูกจะมีพลังมากขนาดนี้ แต่ว่าใน 3 เดือนแรกผลลัพธ์ค่อนข้างน่าพอใจ เราเลยมีแรงที่จะผลักดันการเล่นเรื่อยๆ เมื่อลูกชายอายุ 3 เดือนครึ่ง พาเขาเดินทางครั้งแรก นั่งเครื่องบินราว 3 ชั่วโมง เขาเล่นของเล่นอย่างสนุกสนานและอารมณ์ดีตลอดการเดินทาง มีงอแงบ้างแต่ไม่ถึง10 นาที เขาก็สามารถจัดการอารมณ์เข้าสู่ปกติได้
พอเข้าสู่วัย4 -7 เดือน เราเปลี่ยนการเล่นเป็นพาเขานั่งบ่า อุ้มยกสูงขึ้น แล้วพาเล่นของเล่นที่เขาสามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดได้ เช่น เล่นลูกบอลมีเสียง พาไปสั่นกระดิ่งหมา (ติดตั้งในบ้าน ไว้ในบ้านให้หมาไว้สั่นเพื่อขอออกไปข้างนอก) พาไปเล่นใบไม้แห้ง พาเล่นผลไม้แห้ง รวมถึงหยิบอาหารต่างๆ ในเวลากินข้าว สังเกตว่า ลูกชายมีความใจจดใจจ่อกับหลายสิ่งรอบกายมากขึ้น และเล่นของเล่นได้นานขึ้น เมื่อพาไปข้างนอก ไปเจออะไรที่เขาไม่เคยเจอ เขาจะสังเกตนานมาก ก่อนจะแสดงอาการอยากลงไปสัมผัสวัตถุนั้นๆ หรือลงไปทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าที่เขาไม่เคยเจอ จะมีอาการหวาดกลัวบ้างกับสัตว์ต่างๆ ในศูนย์อนุรักษ์ เพราะเขาไม่เคยเห็นสัตว์ขยับร่างกายมากนัก พอเจอจะตกใจ แต่กับคน กับสิ่งของ เขาค่อนข้างมีความไว้ใจ
สำหรับตารางการเล่นกับลูกไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ช่วงเช้าหลังตื่นนอน จะทักทายกันด้วยการเล่นหมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตา เล่นจ๊ะเอ๋ หลังจากนั้นจะเป็นตารางการทำกิจกรรมข้างนอก กิจกรรมต่อเนื่องที่ทำ คือ ไปเรียนว่ายน้ำตั้งแต่ 5 เดือน ใช้เวลาเรียนประมาณ 20 นาที และกิจกรรมพาหมาเดินเล่นและไปสนามเด็กเล่น วันละ 1 ชั่วโมง ถ้าออกไปข้างนอกเราพยายามไม่เอาของเล่นไปจากบ้าน เพราะอยากให้เขาเข้าใจว่ามีของเล่นข้างนอกรออยู่มากมาย
เมื่อกลับเข้าบ้านก่อนมื้ออาหารจะให้เขาฝึกหยิบจับอาหาร น้ำเอง ก็คือการเล่นกับอาหารก่อนป้อนอาหารบดสัก 10 นาที แล้วหลังจากนั้นให้ทานอาหารอีก 20 นาที ต่อมาก็อาบน้ำ เล่นของเล่นในน้ำ นอนกลางวัน 3 รอบ รอบละ 1 ชั่วโมง- 1 ชั่วโมงครึ่ง ช่วงบ่ายจะอุ้มเขาเข้าครัว ร้องเพลงไป พาทำงานบ้านไป ตกเย็นจะพาเล่น เล่นของเล่นเบาๆ อย่างหนังสือผ้า อ่านนิทาน อ่าน flash card
เรื่องพัฒนาการ ชันอก นั่ง ยืน เราไม่ได้เร่งรัดอะไรลูก แต่เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาอารมณ์ผ่านการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ดูว่าในแต่ละช่วงวัยที่เขาชันคอได้ ชันอกได้ ใช้มือจับสิ่งของได้ ยกเท้าได้ เขามีความสุขระดับใด เราจะตีความหมายของพัฒนาการลูกที่ตรงนั้น เพราะอยากให้ลูกมีพัฒนาการทางกายโดยที่แม่ไม่บังคับ และมีความสุขมากกว่าความทุกข์จากการฝึกฝน
อาจเพราะว่าเราอยากมีลูกมานานมาก เมื่อมีจริงๆ เราจึงอยากให้เวลาเต็มที่กับเขา ตารางของเราเปลี่ยนไปตามเขาหมด เราเชื่อว่าการเล่น คือ วิธีการสร้างความสัมพันธ์กับลูกอันดับต้นๆ และแม้ว่าหลายคนจะบอกว่าเด็กแรกเกิดไม่ใช่วัยที่เล่นด้วยแล้วสนุก เป็นวัยน่าเบื่อ เป็นวัยที่ต้องนอนเยอะ ดังนั้นแม่ควรจะพักผ่อนตัวเองเพื่อเตรียมรับมือในวัยที่โตกว่า แต่ในฐานะแม่เราไม่คิดเช่นนั้น ถ้าลูกง่วงเราปล่อยนอน แต่ถ้าลูกตื่น เราจะไม่เล่นโทรศัพท์ เราจะพาเขาทำกิจกรรมอื่น ชวนคุยและชวนเล่นตามโอกาส และเมื่อเขาโตขึ้น รูปแบบการเล่นจะค่อยๆ ปรับไปตามวัย
จริงๆ แล้วแม่มือใหม่จะรับแรงกดดันเยอะมาก โดยเฉพาะแม่ที่เลี้ยงลูกเต็มเวลา คนจะคาดหวังว่าแม่ต้องทำงานบ้าน จัดการบ้าน ทำกับข้าว ไปซื้อของ หรือถ้าแม่ที่ทำงานนอกบ้านก็จะคาดหวังว่าต้องทำงานหาเงินด้วย ต้องจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนลูก คนรอบข้างไม่เข้าใจมักวางความคาดหวังสารพัด อาจจะทำให้แม่หลายคนเครียด แปลกที่ความเครียดนี้ไม่เกิดกับเรา จึงเชื่อสนิทใจว่า เพราะการเล่นกับเด็กทำให้เราผ่อนคลาย ถ้าเมื่อใดเรากดดันตัวเอง มัวแต่ใจจดจ่อว่าเมื่อไหร่ลูกจะนั่ง จะเดินได้ แม่จะลืมช่วงเวลาความสุขตรงหน้า ดังนั้นถ้าเล่นมากพอวันหนึ่งลูกจะอวดพัฒนาการเอง จนเราลืมไปแล้วว่า “พัฒนาการที่เห็นเป็นของเด็กวัยไหน”
จะอย่างไรก็ตามนับตั้งแต่รู้ตัวว่าจะได้เป็นแม่ ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเป็นแม่ที่มีเวลาเล่นกับลูกก่อนจะทำอย่างอื่น ทำให้สมองเราโล่ง เพราะสนุกไปกับการเล่นกับลูก ซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่คาดหวังอะไรมาก นอกจากคาดหวังให้ลูกสุขภาพดี กายใจ เราว่า การเล่น คือ การลงทุนที่คุ้มค่า คุ้มเวลามากที่สุด…
NO COMMENT