READING

Sensory Play ต้องแพงหรือไม่? เล่นอย่างไรให้คุ้มค่...

Sensory Play ต้องแพงหรือไม่? เล่นอย่างไรให้คุ้มค่า

จารยา บุญมาก
คุณแม่มือใหม่ เลี้ยง เล่นกับลูกเต็มเวลา

“ ก่อนมีลูกเราเคยคิดว่า ต้องแบ่งพื้นที่บ้านให้เป็นสนามเล่นของเขา แล้วเอาของเล่นมาวางให้เยอะๆ ให้เขาเล่น ให้เขาลุยเต็มที่ ภาพในหัวคือ เป็นรั้วกั้นแล้วเทลูกบอลลงไปให้เขากลิ้งเกลือก แต่แล้วภาพๆ นั้นก็หายไปในทุกครั้งที่เราเห็นพัฒนาการลูกแต่ละช่วง  พัฒนาการในแง่ความเบื่อของเล่น  แล้วหันหน้าเข้ามาหาแม่  ก่อนส่งสายตาบอกว่าของเล่นชิ้นโปรดของลูก คือ ของที่แม่ใช้ ”

แนวทางการชวนลูกเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัส หรือ Sensory Play Idea ของเราไม่ได้เกิดจากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกใดๆ หากแต่เกิดขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะจัดการความเบื่อของลูกอย่างไร ในเช้าวันหนึ่งเราเลยไปหาซื้อของเล่นในเว็บไซต์การตลาดทั่วไปแล้วพบคำว่า Sensory Toy เราอยากรู้เลยพยายามศึกษาว่าทำไมมีชื่อเรียกเช่นนี้  Sensory มันเชื่อมโยงกับของเล่นไปได้อย่างไร จากนั้นก็กลายเป็นการตั้งคำถามต่อกุมารแพทย์ เราเลยเข้าใจความหมายของ Sensory Play มากขึ้น แล้วก็เลือกซื้อของเล่นบางอย่างให้ลูก แต่มีแค่ไม่เกิน 5 ชิ้น

“ ไปไหน มาไหน ถ้ามีเพื่อน มีคนรู้จัก เขามักจะทักว่า ลูกชายมีของเล่นแค่นี้เองเหรอ บางคนสงสารก็ซื้อเป็นของขวัญส่งมาให้เยอะแยะ ก็รับมาแล้วส่งต่อ”

หลังจากเข้าใจความหมายของ Sensory Play อย่างลึกซึ้ง ตัวตนของแม่กลับหายไปเพราะขัดใจแต่กับเรื่องพัฒนาการของลูก ด้วยความที่เราไม่ค่อยชื่นชมการเลี้ยงลูกเพื่อเร่งรัดพัฒนาการ การหาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวจึงกวนใจไม่น้อย  สุดท้ายก็ข้ามไปที่วิธีการสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ ดังนั้นเราจึงรวบรวมความคิดและสรุปประเด็นว่า การจะให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดเราก็แค่หาข้อมูลว่า อะไรบ้างปลอดภัยต่อสุขภาพของลูก ส่วนจะสร้างพัฒนาการอะไรให้ลืมๆไปก่อนจะได้ไม่เครียด สุดท้ายจบลงที่แบ่งเวลาเล่น 80%ให้ลูกเล่นบนพื้น จะนั่งหรือนอนก็ได้แล้ว เรานั่ง นอนข้างๆ กับลูก เล่นด้วยกันหรือทำงานอย่างอื่นใกล้ๆ  อีก 20 % ให้เล่นในระหว่างเราอุ้ม หรือนั่งเก้าอี้ รวมทั้ง นั่งในอ่างอาบน้ำ

ของเล่นที่ให้ลูกมีตั้งแต่ของเล่นที่ซื้อมาจากร้านขายของเด็กทั่วไป รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน  เสื้อผ้า และมากที่สุด คือ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ (ที่ล้างให้สะอาด)

แม้นิยามของ Sensory Play จะหมายถึงการเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัส สร้างเสริมพัฒนาการ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า Sensory Play เป็นการรวบรวมความคิดของการส่งเสริมการเล่นให้มากที่สุดให้กับเด็กตั้งแต่วัยทารก อาจหมายถึงการทำงานบ้านช่วยผู้ปกครองด้วย แต่ไม่ได้จริงจังมาก ทำให้พอรู้ว่ากระบวนการเป็นอย่างไร ได้จับอุปกรณ์แล้วรู้สึกแบบใดบ้าง

ดังนั้นสำหรับเราการพาลูกไปซื้อของในตลาด  การนั่งพับเสื้อผ้าไปพร้อมกับการรื้อผ้าของลูก  การล้างจานด้วยการหิ้วลูกในเป้แล้วเขาได้ยื่นมือมาแตะน้ำ  ขยับเท้ามาเตะจาน ชาม เราก็ถือว่าเป็น Sensory Play แล้ว  บางครั้งให้เขาถือทัพพีแล้วเขาตีกะละมัง ระหว่างที่แม่หิ้วเขาล้างจาน เมื่อได้ยินเสียงของกระทบกัน เขาจะหัวเราะออกมาดังๆ หรือตื่นเต้นกับเสียงใหม่ๆ ที่พบ

พาลูกไปเดินออกกำลังกายก็ให้จับใบไม้ ให้ดึงหญ้าในสนามเล่น  ให้เล่นทราย เล่นน้ำทะเลแบบเท้าเปล่า แบบมีถุงเท้าสลับกันไป บางครั้งเล่นหินหลากสีในชุมชน แล้วเราเรียงเป็นภาพสัตว์ต่างๆ ให้เขาดู

ไม่ใช่แค่การพาลูกเจอสภาพแวดล้อมใกล้ตัวเท่านั้น เพื่อส่งเสริม Sensory Play แต่ถ้ามีแรงพอก็ทำของเล่นให้ลูกบ้าง เช่น เอาดินสอมาแขวนที่ผนังกับเทปใส แล้วให้ลูกดึงออกมา  เอาข้าวสารมาใส่ถุงกระดาษ หรือถุงเท้าแล้วเขย่า   เอากล่องมาให้ลูกนั่งแล้วใช้ขวดน้ำหลากสีใส่ลงไปให้เขาได้รื้อเล่น

ที่ทำเช่นนี้ไม่ได้มุ่งหวังให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด หากแต่หวังให้ลูกมีความสุขกับเรื่องง่ายๆ และด้วยนิสัยของแม่เองที่ค่อนข้างประหยัด การเล่นในสถานการณ์จริงเพื่อสร้าง Sensory Play จึงคุ้มค่ามาก


“ หากให้ลูกเล่นของเล่นเดิมๆ ทุกวัน ลูกอาจจะจำของเล่นชิ้นโปรดได้บ้างเมื่อโตขึ้น แต่ถ้าให้ลูกใช้เวลาเล่นแบบอิสระ ทำข้าวของเราเสียหายบ้าง ลูกจะได้ความรู้สิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ ได้ประสบการณ์ใหม่เสมอในทุกความผิดพลาด และนั่นคือหัวใจของ Sensory Play การเรียนรู้เพื่อค้นพบปัญหาและแก้ปัญหาต่อไป เราจึงเป็นแม่ที่พร้อมให้ลูกทำของเล่นพังได้ ไม่มีหวงและทำจานแตกในสักวันได้”


Your email address will not be published. Required fields are marked *

By using this form you agree with the storage and handling of your data by this website.