READING

เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จัด “เทศกาลเล่นอิสระ...

เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จัด “เทศกาลเล่นอิสระ” ปี2


เด็กปลื้ม มหกรรม “Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ” ปี 2
เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ร่วมกับ สสส. สานพลัง กทม. เปิดพื้นที่กลางเมือง 22-24 พ.ย. 67 นี้ เชิญผู้ปกครอง-เด็ก-เยาวชนออกมาเล่นอิสระ-เสริมพลังใจ-สร้างทักษะชีวิต พร้อมโชว์โมเดลลานเล่น ชวนชุมชนทั่วประเทศสร้างพื้นที่เล่นอิสระใกล้บ้าน อุดช่องว่างเด็กไทยเข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้ 60% ไม่เคยไปศูนย์ฝึกอาชีพ 42.7% ไม่เคยเข้าพิพิธภัณฑ์-หอศิลป์ เหตุระยะทางไกล-ครอบครัวยากจน
ส่งผลให้เด็กติดจอมือถือพุ่ง 64%

วันที่ 23 พ.ย. 2567 ที่ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จัดงาน “Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ ตอน เล่นตอนจิ๋ว  โตไปแจ๋ว” เปิดพื้นที่กลางเมืองให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเล่นที่เป็นอิสระ สร้างสรรค์ สร้างความสุข เสริมพัฒนาการตามวัย สร้างทักษะชีวิต และความผูกพันในครอบครัว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย. 67 คาดว่าจะมีครอบครัวและเยาวชนในกรุงเทพฯ เข้าร่วมงานกว่า 4,500 คน

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม. มีวิสัยทัศน์ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน มุ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตประชากรทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการศึกษาและการสร้างพัฒนาการที่ดีทุกมิติ การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ได้จำกัดแค่เพียงห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกแห่ง ทั้งศูนย์เยาวชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ สวนสาธารณะ และภายในชุมชน งาน “Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ” ที่ กทม. ร่วมกับ สสส. และภาคีจัดขึ้นครั้งนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ ส่งเสริมเด็กทุกคนได้เล่นอย่างเล่นอิสระ เกิดเป็นความสุขของเด็กที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดพัฒนาการรอบด้านตามวัย สร้างทักษะทางด้านสมอง และเสริมทักษะการใช้ชีวิต  

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า วัยเด็กแรกเกิด-7 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการสร้างทักษะติดตัวเป็นทุนชีวิต เพื่อให้เด็กใช้ต่อยอดในการเรียนรู้และเติบโต โดยเฉพาะทักษะด้านกระบวนการคิด การรับรู้ การยับยั้งชั่งใจ และความจำ ทักษะทั้งหมดนี้จะพัฒนาได้ดีเมื่อเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสบการณ์เรียนรู้อย่างเต็มที่ ในไทยยังมีการส่งเสริมพื้นที่เล่นและเรียนรู้จำนวนน้อย ส่งผลให้เด็กต้องใช้เวลาว่างนอกห้องเรียนเพื่อไปห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด และบ้านเพื่อน สอดคล้องกับผลสำรวจข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการแหล่งเรียนรู้ กลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปี รวม 19,694 คน จากทั่วประเทศ ปี 2565 โดย สสส. และคิด for คิดส์ พบเด็กและเยาวชน 60% ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้ประเภทศูนย์ฝึกอาชีพ 42.7% ไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ 29% ไม่เคยไปสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ 22.8% ไม่เคยไปสนามกีฬา สาเหตุที่เข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้เนื่องจากระยะทางไกล การเดินทางเป็นอุปสรรค และเด็กส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย

“สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จัดงาน Let’s play festival ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้และพื้นที่เล่นอิสระ และเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเล่นอิสระต่อสังคม นำเสนอและส่งต่อแรงบันดาลใจด้วยโมเดลการเล่นที่หลากหลายให้กับครอบครัว หน่วยงาน คนทั่วไป จากการดำเนินงานของภาคีกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ และสื่อสารคุณค่าของการเล่นทั้งประเด็นในการเล่นฟื้นฟูพลังจากวิกฤตและก้าวข้ามอคติ ควบคู่ไปกับการสร้างรากฐานการพัฒนาเด็กทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และจิตวิญญาณ สร้างความรักความผูกพันในมิติครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และเชื่อมโยงทุกภาคร่วมกันสร้างโอกาสให้เด็กเข้าถึงพื้นที่เล่นอิสระใกล้บ้าน ทั้งนี้ ผู้สนใจติดตามได้ที่ www.letsplaymore.orgน.ส.ณัฐยา กล่าว

น.ส.ประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกและมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนที่ผ่านมา พบว่า โอกาสในการเล่นอิสระของเด็กลดลง สาเหตุจากการติดหน้าจอมือถือ จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบเด็กปฐมวัย 64% ใช้งานโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โดยมีระยะเวลาการใช้จอที่มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลต่อการเล่นของเด็กที่ลดลงถึง 50% นอกจากนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความสนใจเฉพาะเรื่องวิชาการ ครูไม่เข้าใจเรื่องเล่นอิสระ และไม่มีทักษะการเป็นผู้อำนวยการเล่น (Play worker ) เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนเวลาเล่นยิ่งลดลง เพราะส่วนหนึ่งต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกจากเวลาเรียนปกติใช้เวลาเฉลี่ย 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่มีช่วงเวลาผ่อนคลาย ส่งผลให้เด็กเผชิญภาวะเครียด เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า สอดคล้องกับผลสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี รวม 503,884 ราย โดยกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 2565 – 14 ต.ค. 2567 พบเด็กเสี่ยงทำร้ายตนเอง 17.4% เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 10.28%  

“งาน Let’s play festival มีหมุดหมายสำคัญ คือการส่งเสริมให้ครอบครัวใช้การเล่นอิสระเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสุขและพัฒนาเด็ก เน้นอะไรก็เล่นได้ ที่ไหนก็เล่นได้ และจุดประกายให้คนหันมาพูดคุยเรื่องเด็ก ต่อยอดทำงานประเด็นอื่นๆ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนผ่านกลไกความร่วมมือของชุมชน ทั้งนี้ ภายในงานผู้เข้าร่วมจะได้พบกับกิจกรรม 3 โซนไฮไลท์ 1.โซนลานเล่นอิสระ ชวนเด็กมาเล่นกับสิ่งรอบตัว loose parts เล่นกับธรรมชาติ ของเล่นวันวาน และของเล่นพื้นถิ่นวิถีวัฒนธรรม โดยมี Play Worker พร้อมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด 2.โซน Work shop การเป็น Play worker  Mini work shop พาลูกเล่น 3.โซนเวทีเสวนาสื่อสารคุณค่าของการเล่น เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่นอิสระในสังคมไทย ร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. -20.00 น.” น.ส.ประสพสุข กล่าว

   


Your email address will not be published. Required fields are marked *

By using this form you agree with the storage and handling of your data by this website.